โฆษกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยไม่มีนโยบายกักกันผู้โดยสารที่เดินทางมาจากต่างประเทศ แต่หากนักท่องเที่ยวเข้ามายังประเทศไทย ยังคงต้องผ่านการคัดกรองตั้งแต่สนามบิน เพื่อค้นหาผู้ที่อาจติดเชื้อ
สำหรับเกณฑ์ในการวัด คือ หากมีไข้ตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียลขึ้นไป และมีปัญหาระบบทางเดินหายใจ จะถูกนำตัวเข้าสู่การรักษา และเฝ้าระวังเร็ว ส่วนคนที่ไม่มีอาการให้กลับบ้าน แต่ยังคงเฝ้าระวังอาการ 14 วัน หากป่วยให้รีบมาพบแพทย์
สำหรับการแถลงข่าวสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 19 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า สถานการณ์ในไทยตอนนี้ มีป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล 18 ราย กลับบ้านแล้ว 17 ราย รวมสะสม 35 ราย
สำหรับผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม – 19 กุมภาพันธ์ 2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 1,052 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว 863 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ซึ่งอาการผู้ป่วยที่นอนในโรงพยาบาลส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้นตามลำดับ ขณะที่ผู้ป่วยที่มีอาการวิกฤต 2 รายอาการยังคงทรงตัว ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อจากทั่วโลกใน 28 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ มี 75,726 ราย เสียชีวิต 2,128 ราย
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ที่มีการระบาดที่ยังควบคุมได้ โดยได้มีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษใน8จังหวัด คือ กลุ่มเสี่ยงที่ทำงานสัมผัสใกล้ชิดกับประชาชนที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด
เมื่อช่วงเช้า (20 ก.พ. 2563) ได้มีการประชุม คณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคอุบัติใหม่แห่งชาติ ครั้งที่ 3 มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยได้เน้นย้ำ มาตรการต่างๆ ในการควบคุม ไม่ให้เกิดการระบาดเพิ่มมากขึ้นเหมือนในหลายประเทศ โดยให้มีการชะลอ ตัวของโรคและการระบาดไว้ให้นานที่สุด การเตรียมบุคลกรทางการแพทย์ สถานพยาบาล ห้องแยกโรค หากอนาคตมีการระบาดของเชื้อเพิ่มขึ้นในจังหวัดอื่น นอกจากกรุงเทพมหานคร
และในวันจันทร์นี้ที่กระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมโรคติดต่อแห่งชาติ 30 ราย ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน จะมีการพิจารณาร่างประกาศ โควิด 19 ให้เป็นโรคติดต่ออันตราย เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการโรค